7 ขั้นตอนการสร้างบ้าน ที่คนสร้างบ้านเองต้องรู้
วันที่อัพเดท 2023-04-24 19:21:40การสร้างบ้านเองเป็นแนวคิดที่เหมาะสำหรับคนที่มีที่ดินอยู่แล้วหรือมีความต้องการ ปัจจัยบางอย่างซึ่งทำให้บ้านที่มีขายอยู่ทั่วไปนั้นไม่สามารถตอบโจทย์ได้ สำหรับคนที่ต้องการสร้างบ้านเอง ควรรู้ขั้นตอนและภาพรวมทั้งหมดก่อน เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับค่าใช้จ่าย และสามารถดำเนินการต่างๆได้อย่างราบรื่น
1.การกำหนดความต้องการของบ้าน
ฟังก์ชั่นการใช้งาน และความต้องการของผู้อยู่อาศัย คือตัวกำหนดขอบเขต และฟังก์ชั่นภายในบ้าน เจ้าของบ้านจำเป็นต้องสำรวจความต้องการของสมาชิก และความเหมาะสมต่อความต้องการนั้นเทียบกับปัจจัยต่างๆ ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนเริ่มต้นที่สำคัญมาก เพราะหากไม่ชัดเจนในความต้องการตั้งแต่แรก อาจทำให้ขั้นตอนอื่นๆเกิดความล่าช้า หรือหากมีควาวมต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงบางอย่าง อาจทำให้ต้องมีการรื้อถอนหรือต่อเติม ซึ่งจะทำให้เกิดค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และระยะเวลาในการสร้างบ้านก็จะถูกยืดออกไปเช่นกัน คำถามที่ต้องสำรวจ เช่น
- จำนวนผู้อยู่อาศัยมีกี่คน แต่ละคนต้องการอะไรเป็นพิเศษ เช่น หากมีผู้สูงอายุในบ้านจำเป็นต้องมีห้องนอนที่ชั้น 1 เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้บันไดหรือไม่
- สมาชิกในบ้านมักอาศัยอยู่ในช่วงกลางวันหรือกลางคืนมากกว่ากัน ซึ่งคำถามนี้จะส่งผลถึง ทิศทางแดด ซึ่งส่องถึงพื้นที่ใช้สอยนั้นๆ
- ความต้องการเพิ่มเติมอื่นๆ เช่น โรงจอดรถ สวนนอกบ้าน สระว่ายน้ำ ฯ
- สถานที่ใกล้เคียง เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า สถานที่ทำงาน
2.ที่ดินสำหรับสร้างบ้าน
สำหรับคนที่ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเองอยู่ก่อนแล้ว การสำรวจเพื่อหาที่ดินจึงเป็นขั้นตอนแรก ซึ่งที่ดินนั้นจำเป็นต้องมีระบบสาธารณูปโภค ไฟฟ้า น้ำปะปา อินเตอร์เน็ต รถประจำทาง สามารถเข้าถึงได้ และเป็นพื้นที่ซึ่งสามารถปลูกสร้างได้ รวมทั้งตอบสนองต่อความต้องการข้างต้นของเจ้าของบ้านด้วย ซึ่งในปัจจุบันการหาซื้อที่ดินไม่ได้ยุ่งยากอีกต่อไป เราสามารถเข้าถึงเว็บไซต์ซื้อขายที่ดินได้ด้วยตนเอง หรือติดต่อกับนายหน้าเพื่อหาซื้อที่ดินที่ตรงกับความต้องการมากที่สุด
3.การวางแผนงบประมาณ
การวางแผนงบประมาณ เป็นขั้นตอนที่ต้องการความละเอียดรอบคอบ โดยการสร้างบ้านนั้น มักจะมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มเติมขึ้นมา ซึ่งเรียกได้ว่า "งบบานปลาย" อยู่เสมอ ดังนั้นจึงควรแบ่งสัดส่วนงบประมาณให้เพียงพอและมีทุนสำรองสำหรับปัจจัยที่คาดไม่ถึงด้วยเช่นกัน การวางแผนกู้เงินโดยคำนึงถึงดอกเบี้ยซึ่งแต่ละคนอาจมีวิธีคิดที่ไม่เหมือนกัน บางคนอาจมีเเงินสดของตนเองเข้าร่วมด้วยในอัตราส่วนเท่าไหร่ก็ตาม เพื่อลดค่าดอกเบี้ย หรือบางคนอาจต้องการกู้ให้ได้มากที่สุด เพื่อนำเงินสดไปหมุนเวียน ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยนั้น ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแต่ละธนาคาร
4.หาแบบบ้าน/จ้างเขียนแบบ
เข้าสู่กระบวนการสร้างบ้านซึ่งเราสามารถจ้างผู้รับเหมา บริษัทรับสร้างบ้าน หรือ เลือกที่จะดำเนินงานเองทั้งหมดก็ได้ โดยรายละเอียดนั้นจะมีความแตกต่างกันไป การจ้างผู้รับเหมาหรือบริษัทรับสร้างบ้านให้เขียนแบบบ้านตามความต้องการของเรา มีข้อดีคือ ผู้รับเหมาสามารถดำเเนินการขออนุญาตก่อสร้างให้เราได้เลย (รายละเอียดขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัท) ช่วยลดความยุ่งยากลง
แต่หากเราต้องการลดค่าใช้จ่าย หรือไม่มีความต้องการพิเศษในแบบบ้าน เราสามารถหาแบบบ้านฟรีได้จากแหล่งต่างๆ รวมทั้งสามารถไปขอแบบบ้านมาตรฐานจากสำนักงานเขตท้องถิ่นได้ ซึ่งแบบบ้านมาตรฐานนั้นจะสามารถยื่นขออนุญาตก่อสร้างได้ทันที
5.การขออนุญาตก่อสร้าง
ขั้นตอนการขออนุญาตก่อสร้าง
1) ยื่นคำร้องขออนุญาตก่อสร้างบ้านที่สำนักงานเขตท้องถิ่นในพื้นที่นั้น ๆ
2) สำนักงานเขตท้องถิ่นตรวจสอบแบบแปลน โดยเฉพาะในเขตที่ประกาศใช้กฎหมายควบคุมการก่อสร้างอาคาร หรือกฎหมายผังเมืองบ้านหรืออาคาร สิ่งปลูกสร้างทุกประเภทจะต้องได้รับอนุญาตก่อสร้างบ้านก่อน และจะต้องก่อสร้างตามแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต
3) ได้รับหนังสืออนุญาตให้ก่อสร้าง กรณีที่ไม่ได้รับอนุญาต อาจจะมีการให้แก้ไขในบางรายละเอียด ก็ต้องดำเนินการแก้ไข และยื่นขออนุญาตอีกครั้ง
4) เมื่อได้ใบอนุญาตก่อสร้างมาแล้ว ควรทำสำเนาทั้งเก็บไว้ ที่ตัวเอง ให้สถาปนิก วิศวกร และผู้รับเหมา หรือบริษัทรับสร้างบ้าน ดำเนินการก่อสร้างบ้านต่อไป
หมายเหตุ: ในระหว่างก่อสร้าง หากมีเหตุที่ก่อให้เกิดผลกระทบกับเพื่อนบ้าน ชุมชนใกล้เคียง เช่น เสียงดังเกินเวลาที่กฎหมายกำหนด วัสดุก่อสร้างหล่น หรือมีอุบัติเหตุ จนได้รับการร้องเรียน หน่วยงานภาครัฐอาจมีคำสั่งให้หยุดงานก่อสร้างชั่วคราว จนกว่าขั้นตอนทางกฎหมายจะแล้วเสร็จจึงจะมีคำสั่งว่า จะให้ก่อสร้างต่อ หรือให้หยุดก่อสร้างถาวร
6.เริ่มก่อสร้าง
หลังจากที่ได้ใบอนุญาตก่อสร้างเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็เริ่มลงมือก่อสร้างได้ โดยก่อนหน้าที่จะมาถึงขั้นตอนนี้ ตามปกติแล้ว ควรมีการหาผู้รับเหมาไว้ก่อนล่วงหน้า เมื่อได้ใบอนุญาตมาก็พร้อมลงมือก่อสร้างได้เลย
โดยการเลือกหาผู้รับเหมา ควรมีการเขียนสัญญาการว่าจ้างให้ชัดเจน ระบุเรื่องการจ่ายเงินต่าง ๆ ซึ่งการหาผู้รับเหมาที่ไว้ใจได้ที่ก่อสร้างจนจบงาน ก็เป็นเรื่องยาก อันนี้อาจจะต้องหาคนที่ไว้ใจได้ หรือคนที่เคยมีผลงานมาก่อนแล้ว และได้รับการรับรองว่า ไม่เบี้ยว มิเช่นนั้นอาจสูญเงินเปล่า ซึ่งอาจจะต้องมีความรอบคอบในการจ่ายเงินค่าจ้าง ต้องไม่เขี้ยวเกินไป เพราะเป็นสาเหตุที่ทำให้ถูกทิ้งงานได้ และไม่หละหลวมจนเกินไป
7. ขอเลขที่บ้าน น้ำ ไฟฟ้า
เมื่อก่อสร้างบ้านไปจนเกือบแล้วเสร็จ สามารถเริ่มดำเนินการขั้นตอนของการยื่นเลขที่บ้านได้เลย หรือจะยื่นขอหลังจากที่บ้านสร้างเสร็จแล้วก็ได้ โดยหากยื่นภายหลังที่บ้านก่อสร้างเสร็จ จะต้องแจ้งต่อนายทะเบียนภายใน 15 วัน หลังจากที่บ้านสร้างเสร็จ ต่อจากนั้นก็นำทะเบียนบ้านที่ได้รับไปยื่นขอประปา และไฟฟ้าจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นลำดับต่อไป